ที่มาและความสำคัญของปัญหาการวิจัย


      ในปัจจุบันผู้คนต้องทำงานหนักทำให้เกิดภาวะเครียดขณะที่บางครับประทานอาหารแต่ละมื้อไม่ครบ 5 หมู่ ประกอบกับมลพิษที่อยู่ในอากาศ ทำให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นในร่างกาย ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ มากขึ้นกว่าในอดีต วิตามินและอาหารเสริมจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทกับชีวิต โดยเฉพาะโอเมก้า 3 ที่มีอยู่ในน้ำมันปลาที่หลายๆ คนรู้จัก เนื่องจากโอเมก้า 3 เป็นไขมันประเภทไม่อิ่มตัว มีประโยชน์ในเรื่องลดอัตราการตายจากโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดตีบ และยังลดคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ตลอดถึงยังลดความหนืดของเลือด ลดการอักเสบ รวมทั้งสร้างความสมดุลและปรับระดับเลือดในร่างกายให้อยู่ในภาวะปกติได้ แต่ปัญหาก็คือสารอาหารเหล่านี้มีอยู่ในปลาทะเลน้ำลึก ซึ่งเป็นปลาที่อยู่ในเขตหนาว อย่างปลาแซลมอน ปลาแม็คเคอเรล ทำให้ราคาของปลาเหล่านี้เมื่อนำมาจำหน่ายในเมืองไทยมีราคาค่อนข้างสูง ปลาทูคือหนึ่งทางเลือก เพราะในปลาทูจะมีสารโอเมก้า 3 ค่อนข้างมาก ราคาไม่แพง โดยในเนื้อปลาทู 100 กรัมมีสารโอเมก้า 3 ประมาณ 2-3 กรัม ซึ่งปกติในหนึ่งวันร่างกายต้องการโอเมก้า 3 ประมาณวันละ 3 กรัมต่อวัน (ปิติ พลังวชิรา , 2550) 

       การผลิตและจำหน่ายปลาทูนึ่ง ในปัจจุบัน จึงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคจำนวนมากและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต้องการอาหาร ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ รับประทานได้ง่าย และความสะดวกสบายในปัจจุบัน ทำให้อาหารบางประเภท ต้องพัฒนาให้กลายมาเป็นอาหารที่ต้องสามารถซื้อมาเก็บตุนไว้ใช้รับประทานในยามที่จำเป็น การออกแบบผลิตภัณฑ์ปลาทูในรูปแบบใหม่ สำหรับประเทศไทย ยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายเท่าไหร่นัก ปลาทูแปรรูป จะเห็นได้ตาม ห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้า ที่มีชื่อเสียง เหตุผลหลักที่ทำให้ปลาทูไม่เป็นที่แพร่หลาย เนื่องจากการเก็บรักษาคุณภาพอาหารให้อยู่นานข้ามเดือน หรือข้ามปีนั้น ต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีราคาสูง ต้นทุนก็สูงตามไปด้วย ประการที่สำคัญคือ บรรจุภัณฑ์ ต้องออกแบบให้เหมาะสมกับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยให้สินค้าคงคุณภาพอยู่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด บริษัท ปลาทู ท่าข้าม จำกัด มีกิจการตั้งอยู่ เลขที่1,3 ซอย ท่าข้าม 11 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร โดยผลิตและจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ปลาทูนึ่ง ได้แก่ ปลาทูไทย ปลาทูแขก ปลาซาบะ รวมทั้งปลาทูสด และปลาทูหอม (ปลาทูเค็ม) หลากหลายขนาดและราคา ขายส่ง และ ขายปลีก ปลาทูนึ่งของ บริษัท ปลาทู ท่าข้าม จำกัดนั้นเป็นปลาทูที่มีคุณภาพ มีความสด เนื้อแน่น ไม่ยุ่ย รสชาติไม่เค็ม ซึ่งเป็นสูตรการนึ่งของทางร้าน (อภิญญา ดวงสวัสดิ์ , 2559) ในส่วนบริษัท ยังไม่มีแบรนด์ให้เป็นที่จดจำเพื่อส่งเสริมการขาย เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้วิจัยต้องการพัฒนา ให้มีอัตลักษณ์ และรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพราะ ขณะนี้ประเทศเริ่มเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจ อาเซียน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้กิจการได้เติบโต และมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น 

       ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และเทคโนโลยี ทำให้ผู้บริโภคเน้นเลือกซื้อสินค้าที่สะดวกต่อการใช้งาน หรือเข้าถึงได้ง่าย ปัจจัยแรกที่ผู้บริโภคคำนึงถึงคือ รูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยสวยงาม รองลงมาเป็นเรื่องของราคา การออกแบบกราฟิก มีความสำคัญต่อบรรจุภัณฑ์เป็นอย่างมาก เพราะกราฟิกบรรจุภัณฑ์ ได้แสดงบทบาทหน้าที่สำคัญ อันได้แก่การสร้างทัศนคติที่ดีต่อผลิตภัณฑ์ เปรียบเสมือนสื่อ ประชาสัมพันธ์ของผลิตภัณฑ์ ที่จะเสนอต่อผู้บริโภคแสดงออกถึง ความดีของผลิตภัณฑ์ และความรับผิดชอบที่ ผู้ผลิตมีต่อผลิตภัณฑ์ โดยที่ภาพกราฟิก จะสื่อความหมายการเชื่อถือในคุณภาพ ความศรัทธา เป็นการชี้แจงและบ่งชี้ให้ผู้บริโภคทราบถึง ชนิดประเภทของผลิตภัณฑ์ ให้สื่อความหมายว่า ผลิตภัณฑ์คืออะไร การออกแบบกราฟิก จึงมีหน้าที่แสดงอัตลักษณ์ที่เป็นลักษณะเฉพาะของตน ( brand image ) ทำให้ ให้สามารถเรียกร้องความสนใจ จากผู้บริโภคให้เอาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาพิจารณา เพื่อตัดสินใจเลือกซื้อ บทบาทในหน้าที่นี้เปรียบเสมือน บรรจุภัณฑ์ให้เป็น พนักงานขายเงียบ ( the silent salesman )ทำหน้าที่โฆษนา ประชาสัมพันธ์ บริเวณจุดซื้อ( point of purchase ) บรรจุภัณฑ์เป็นตัวแทนของกระบวนการส่งเสริมการขายทางด้านการตลาด ทำหน้าที่เป็นสื่อโฆษนา ได้อย่าง ดีเยี่ยม เพราะบรรจุภัณฑ์เป็นงานพิมพ์ 3 มิติ ที่จะสามารถใช้เป็นสื่อโฆษณา ได้ดีกว่าแผ่นโฆษณา (ประชิด ทิณบุตร, 2530)

        ปลาทูนึ่งที่ผลิตกันในปัจจุบัน นั้นไม่ค่อยมีอัตลักษณ์ จะมีลักษณะการบรรจุและการจำหน่ายที่คล้ายๆกัน ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถจำแนกได้ปลาทูของแต่ละเจ้านั้นแตกต่างกันอย่างไร จึงทำให้ผู้วิจัยมีแนวคิดที่จะออกแบบอัตลักษณ์สร้างแบรนด์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาทูให้สามารถนำไปใช้งานได้จริง การออกแบบบรรจุภัณฑ์ทางการค้าสำหรับปลาทูนั้น มีเหตุปัจจัยและปัญหาซึ่งอาจต้องใช้เวลาค่อนข้างมากในการสืบค้นศึกษาข้อมูล การศึกษาวิธีการศึกษา ทั้งจากสื่อสารสนเทศ และประสบการณ์ รวมทั้งเวลาในการออกแบบ สรรสร้างผลงานตลอดจนการผลิตชิ้นงานขึ้นมา เพื่อทดสอบการใช้งาน การหาสถานที่สำหรับศึกษาปฏิบัติการ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา จนกระทั่งการสรุปผล ออกมาเป็นผลงาน­ ผู้วิจัยมีแนวคิดที่จะนำวิธีวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประชิด ทิณบุตร มาใช้ในการศึกษาตามกระบวนการ 3ส. สืบค้น สมมุติฐาน และการสรุปผล (ประชิด ทิณบุตร, 2558)โดยจะเห็นได้ว่าปัญหาของบรรจุภัณฑ์สินค้าของผลิตภัณฑ์บริษัท ปลาทู ท่าข้าม จำกัด ยังไม่ได้รับการพัฒนาในส่วนนี้จากการสำรวจและลงพื้นที่พบกับผู้ประกอบการในวันที่15 มกราคม พ.ศ.2559 มี ดังนี้ 

            1. บรรจุภัณฑ์เป็นโฟม ห่อหุ้มด้วยฟิล์มห่อหุ้มอาหาร เมื่อทำการบรรจุเกิดการฉีกขาดได้ง่าย ทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ในหลายกรณี ทั้งทางการขนส่งและการเก็บรักษาอาจ เกิดการเน่าเสียได้ง่าย 
                    2. ไม่มีตราสัญลักษณ์และสลากบ่งบอกถึงตัวผลิตภัณฑ์
                    3. ผลิตภัณฑ์ขาดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง 

       ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้จัดทำโครงการออกแบบกราฟิกอัตลักษณ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาทู สำหรับบริษัท ปลาทู ท่าข้าม จำกัดเพื่อส่งเสริมการขายโดยจะช่วยในการพัฒนาออกแบบกราฟิกบนบรรจุภัณฑ์สินค้าทั้งเพื่อการขายและการขนส่งอยางมีประสิทธิภาพ

No comments:

Post a Comment